ประวัติโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ชุดที่ 1

ประวัติโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ชุดที่-1
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ชุดที่ 1
ที่มา: หนังสือ 50 ปี โรงไฟฟ้าพระนครใต้

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ในช่วงปี พ.ศ. 2531-2533 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว กฟผ. ในฐานะผู้สร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของชาติจึงมีแผนก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้” (Combined Cycle Power Plant : CCPP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดในขณะนั้นเพิ่มเติม โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นและ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจึงมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก และยังก่อสร้างเสร็จในเวลาไม่นาน จึงสามารถนำไฟฟ้าเข้าระบบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กฟผ. ได้เสนอโครงการ “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ชุดที่ 1” หรือที่ชาวโรงใต้เรียกกันสั้นๆว่า “คอมไบน์บล็อก 1” (Combine Block 1) ต่อรัฐบาล

และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยตั้งอยู่ต่อจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไปทางทิศตะวันตก โครงการนี้ประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซจำนวน 2 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 110 เมกะวัตต์ และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำกำลังผลิต 115 เมกะวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง รวมกำลังผลิต 335 เมกะวัตต์ เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซทั้ง 2 เครื่องเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและกระจายไฟฟ้าเข้าระบบได้ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม และ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ตามลำดับ ส่วนเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้า ระบบได้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณวันละ 58 ล้านลูกบาศก์ฟุต และยังสามารถใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรองได้อีกด้วย โดยได้ปลดออกจากระบบเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563