ประเพณีรับบัว
ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 โดยจะมีการอัญเชิญหลวงพ่อโตองค์จำลอง จากวัดบางพลีใหญ่ใน มาลงเรือที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้ และล่องไปตามคลองบางพลี เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะบูชา โดยมีความเชื่อว่า หากอธิษฐานแล้วโยนบัวลงเรือที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตจะทำให้คำอธิษฐานประสบความสำเร็จ สมปรารถนา ตามที่ได้ขอพรไว้
สำหรับประเพณีรับบัว เปรียบเสมือนสายใยแห่งความกลมเกลียวอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยเป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยในสมัยก่อนอำเภอบางพลีมีประชาชนอาศัยอยู่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ คนไทย คนลาว และคนรามัญ (ชาวมอญพระประแดง) ทุกกลุ่มชนต่างทำมาหากินและอยู่ร่วมกันเสมือนญาติมิตร
ช่วงวันออกพรรษา ชาวไทยและชาวมอญ ต่างพายเรือมาเก็บดอกบัวที่อำเภอบางพลี แล้วไปนมัสการองค์หลวงพ่อโตพร้อมกัน โดยตลอดเส้นทางจากพระประแดงไปบางพลี เป็นระยะทางที่ไกลพอสมควร เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เรือแต่ละลำก็จะร้องรำทำเพลงมาตลอดเส้นทาง โดยปกติแล้วจะรับส่งดอกบัวกันมือต่อมือ แต่หากสนิทคุ้นเคยกัน ก็จะโยนให้กัน จึงเป็นที่มาของประเพณีที่เรียกว่า “รับบัว” จนถึงทุกวันนี้นั่นเอง