เขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูล เขื่อนคอนกรีตบดอัดแน่น ที่สร้างปิดกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัด อุบลราชธานี

เขื่อนปากมูลได้ออกแบบเป็นเขื่อนทดน้ำ เพื่อทดน้ำในแม่น้ำมูลให้สูงขึ้น สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน ส่งเสริมการทำอาชีพประมงและการเกษตร โดย กฟผ. ได้จัดทำบันไดปลาโจน เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงสามารถว่ายขึ้นไปวางไข่ในแม่น้ำมูลได้ พร้อมทั้งก่อสร้างศูนย์ประมง เพื่อเพาะขยายและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร

ลักษณะเขื่อน

เป็นเขื่อนทดน้ำสร้างด้วยคอนกรีตบดอัดแน่น สูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร กว้าง 6 เมตรและมีอาคารระบายน้ำเป็นคอนกรีตแบบเหล็กบานโค้งขนาดกว้าง 22.5 เมตร ยาว 14.75 เมตร ที่สามารถทำการระบายน้ำได้สูงสุดถึง 18,500 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที และสามารถรับความจุของน้ำได้มากถึง 225 ล้านลูกบาศก์เมตร

โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก และติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง ซึ่งมีลักษณะ แตกต่างจากโรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ ในประเทศไทย เพราะมีรูปร่างคล้ายกับกระสวย มีเครื่องกังหันน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าบรรจุรวมอยู่ในกระเปาะเดียวกันวางตามแนวท่อน้ำในระดับท้องน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 34,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 136,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 251 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องควบคุม เนื่องจากใช้การควบคุมระยะไกลจากเขื่อนสิรินธร

ความเป็นมาเขื่อนปากมูล

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลำน้ำสายสำคัญที่สุดอยู่แหล่งหนึ่ง คือ “แม่น้ำมูล” จัดเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำไหลมากเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ปัจจุบัน คือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) และ กฟผ. ได้ร่วมทำการสำรวจและศึกษาเพิ่มเติมพบว่าสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำดังกล่าวได้ ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณมาก ทำให้ต้องมีการรับไฟฟ้ามาจากภาคกลางและภาคเหนือ

รวมทั้งซื้อจากการไฟฟ้าลาว ทำให้ระบบไฟฟ้าขาดความมั่นคง เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาไฟดับ จึงได้วางแผนก่อสร้าง “เขื่อนปากมูล” เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533 แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 สามารถสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ช่วยเสริมความมั่นคงแก่ระบบไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันมีขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 136 เมกะวัตต์

การเดินทาง

สำหรับท่านใดที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวเขื่อนท่านสามารถเดินทางตามแผ่นที่ ที่เราได้ปักหมุดไว้ได้เลยครับ เพื่อให้สะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น เขื่อนปากมูล ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี 34350

ที่พักใกล้ๆเขื่อน

ในส่วนของเขื่อนปากมูลนี้จะไม่มีที่พักให้ท่าน แต่สามารถจองที่พักใกล้ ๆ อย่าง  รีสอร์ทจอนนี่มือปราบ เขื่อนสิรินธร ที่สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ทั้งสองเขื่อน

สถานที่ติดต่อ : เบอร์โทร 0 4344 6148-9 , 0 4536 6081-3