เขื่อนรัชชประภา
เขื่อนรัชชประภาเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ ที่มีความสำคัญยิ่ง ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว
เขื่อนรัชชประภามีส่วนสำคัญด้านบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างบริเวณลุ่มน้ำคลองแสง คลองพุมดวงและแม่น้ำตาปีได้เป็นอย่างดี อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภายังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้มาก และยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเสียและน้ำเค็ม ที่รุกเข้ามาตามลำน้ำตาปี – พุมดวงได้
ลักษณะเขื่อน
เขื่อนรัชชประภาเป็นเขื่อนแบบหินถมแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร ความยาวสันเขื่อนอยู่ที่ 761 เมตร และมีความกว้างของสันเขื่อนอยู่ที่ 12 เมตร ทั้งนี้ กฟผ. ยังได้ก่อสร้างเขื่อน เพื่อปิดกั้นเขาขาดอีก 5 แห่ง มีพื้นที่เก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ที่สามารถกักเก็บน้ำได้สูงถึง 5,639 ลูกบาศก์เมตร
โรงไฟฟ้าตั้งอยู่บนฝั่งขวามือของแม่น้ำเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 240,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงถึงปีละประมาณ 351 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ความเป็นมาเขื่อนรัชชประภา
เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยรัชมังคลาภิเษก และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัฐบาลยุคนั้น ได้มีโครงการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานปิดกั้นลำน้ำคลองแสงขึ้น เพื่ออำนวยประโยชน์กับราษฎร ทั้งด้านชลประทานและการผลิตไฟฟ้า และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – 2524)
เขื่อนเชี่ยวหลานเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2530 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” แปลว่า แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร (Light of the Kingdom) พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530
การเดินทาง
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังไม่รู้เส้นทางเราเลยได้จัดทำเป็นแผ่นที่เล็ก ๆ เพื่อไม่เป็นการสับสนกับเส้นทาง
หรือสามารถค้นหาเส้นทางบน Google Maps เขื่อนรัชชประภา 53 หมู่ 3 ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี 84230
ที่พัก กฟผ.
บ้านพักภายในเขื่อนรัชชประภาเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสบรรยากาศของดินแดนกุ้ยหลินเมืองไทย สามารถรองรับได้ทั้งแบบครอบครัว หรือหมู่คณะ
สนามกอล์ฟ กฟผ.
เป็นสนามแบบ 18 หลุม เปิดให้บริการ แก่บุคคลทั่วไปและผู้ที่รักในกีฬากอล์ฟ