โรงไฟฟ้าวังน้อย พระนครศรีอยุธยา
โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย
กำลังการผลิต
โรงไฟฟ้าลำตะคองฯ ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 250 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตติดตั้ง 500 เมกะวัตต์ ต่อมาได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 เครื่อง ทำให้มีกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่ใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี กฟผ. จึงพิจารณานำเทคโนโลยีที่ทันสมัย คือโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มาสร้างโรงไฟฟ้าในภาคนี้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองฯ แบบสูบกลับ สร้างอยู่ใกล้กับเขื่อนลำตะคอง ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 70 กิโลเมตร ทำงานโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองของกรมชลประทานไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำ บนเขายายเที่ยง ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันถึงค่ำจะปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยงสร้างแบบหินถมดาดด้วยยางมะตอย เพื่อป้องกันน้ำ ซึมเก็บกักน้ำได้ 10.3 ล้านลูกบาศก์เมตร
ตัวอาคารโรงไฟฟ้า ถูกสร้างไว้ใต้ระดับผิวดินลึกกว่า 350 เมตร เพื่อเพิ่มระยะทางจากอ่างเก็บน้ำบนเขาถึงอาคารโรงไฟฟ้าให้น้ำที่ไหลลงมามีกำลังแรงขึ้น ทำให้โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเมื่อปี พ.ศ. 2547
เล่าขานตำนานโรงไฟฟ้า
โครงการก่อสร้างเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2547 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับว่า “โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” มีความหมายว่า โรงไฟฟ้าลำตะคองเป็นที่พัฒนาแสงไฟด้วยน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปเปิดโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556 นับเป็นโรงไฟฟ้าแห่งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอันเป็นสิริมงคล
กังหันลมลำตะคอง
การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมลำตะคอง เป็นโครงการหนึ่งที่ กฟผ. มุ่งมั่นที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2547 – 2555 (PDP 2004) จากการเก็บสถิติความเร็วลมของ กฟผ. เพื่อตรวจวัดศักยภาพพลังงานลมสำหรับผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 พบว่า บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนของโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา มีศักยภาพดีที่สุดแห่งหนึ่ง มีลมพัดถึง 2 ช่วง คือช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงปลายเดือนมีนาคม) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม) มีความเร็วลมเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 5 – 6 เมตรต่อวินาทีเหมาะสมที่จะพัฒนาสร้างกังหันลมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า กฟผ. จึงได้ดำเนินโครงการติดตั้งกังหันลมจำนวน 2 ชุด ขนาดกำลังผลิตชุดละ 1,250 กิโลวัตต์รวมกำลังผลิต 2,500 กิโลวัตต์และดำเนินการติดตั้งกังหันลมเพิ่มอีก 12 ต้น ต้นละ 2,000 กิโลวัตต์ ทำให้มีกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 26,500 กิโลวัตต
การเดินทาง
สามารถค้นหาเส้นทางบน Google Maps : ถ. มิตรภาพ ตำบล หนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง นครราชสีมา 30130