กิน เที่ยว ชอป รอบโรงไฟฟ้าพระนครใต้
มาเที่ยวสบาย ๆ แบบวันเดย์ทริปรอบโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ล่องเรือ ไหว้พระ เที่ยวตลาดน้ำ สัมผัสวิถีชุมชนเล็ก ๆ ในพื้นที่สีเขียวใกล้กรุงที่เดินทางมาได้ง่าย ๆ
โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือที่คนในพื้นที่สมุทรปราการเรียกกันสั้น ๆ ว่า “โรงใต้” นั้น เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเมื่อปี พ.ศ. 2515 ด้านหน้าโรงไฟฟ้าได้วิวสวยริมแม่น้ำเจ้าพระยา มองไปรอบ ๆ นอกจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขึ้นเรียงรายแล้ว ยังมีชุมชนดั้งเดิม และผืนป่า “จาก” ที่ยังอุดมสมบูรณ์ซ่อนตัวอยู่ หลอมรวมเป็นชุมชนใหญ่หลากมิติ วันนี้เราจึงอยากชี้เป้า 3 ชุมชนริมรั้วโรงไฟฟ้าคือ ชุมชนบางโปรง บางหัวเสือ และบางด้วน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่มีเสน่ห์และน่าสนใจไม่น้อยเลย
ชุมชนบางโปรง
เริ่มสตาร์ทกันที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ในเขตตำบลบางโปรงกันก่อน นอกจากหน้าที่หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนแล้ว ยังมีกิจกรรมเปิดบ้านโรงไฟฟ้าให้ผู้ที่สนใจมาเรียนรู้เรื่องพลังงาน กระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงความก้าวหน้าโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 1 ที่กำลังใกล้แล้วเสร็จ ล่าสุดยังมีกิจกรรมสานสัมพันธ์กับชุมชน ชักชวนกันมาเปิดตลาดนัดชุมชนในพื้นที่โรงไฟฟ้าเดือนละครั้ง ใครสนใจมาร่วมชิมชอปใช้สินค้าชุมชน สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่ FB : กฟผ. โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ
จากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เราไปไหว้หลวงพ่อกั่วแห่งวัดบางโปรง พระพุทธรูปปางมารวิชัยอายุประมาณ 300 ปีเศษ ที่ชาวบางโปรงและชุมชนใกล้เคียง รวมถึงชาวโรงไฟฟ้ามักจะมากราบไหว้หลวงพ่อกั่วด้วยแอปเปิ้ลลูกโต ๆ ขอโชคลาภ ขอให้การงานสำเร็จ หรือขอให้เจอของที่หายไป เหตุที่ชื่อหลวงพ่อกั่วก็เพราะมีการใช้ตะกั่วในการหล่อเป็นองค์พระนั่นเอง
อีกหนึ่งจุดเช็กอินที่สาว ๆ ต้องชอบ เพราะได้ลงมือทำผ้ามัดย้อมด้วยสีเปลือกจาก ที่บ้านครูนงเยาว์ พรมจิตร ซึ่งในอดีตต้นจากถือเป็นพืชเศรษฐกิจของผู้คนย่านนี้ ปัจจุบันแม้พื้นที่ป่าจากจะลดลง แต่ยังมีหลายบ้านที่ใช้ประโยชน์จากป่าจากอยู่ ครูนงเยาว์จะสอนตั้งแต่การเลือกลูกจาก เฉาะเปลือกจากเพื่อนำไปต้มจนได้สีน้ำตาลธรรมชาติ เรื่อยไปถึงขั้นตอนย้อมผ้าสร้างลวดลายให้สวยงาม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีเปลือกจากที่น่าชอปน่าใช้ เช่น ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า ผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง
ชุมชนบางหัวเสือ
เปลี่ยนบรรยากาศมาล่องเรือชมวิวเมืองปากน้ำกันบ้าง เพื่อเที่ยวชมชุมชนบางหัวเสือ กิจกรรมนี้ใช้เวลาไม่นานและปลอดภัยเพราะเป็นเรือขนาดใหญ่ แถมยังเพลิดเพลินเจริญใจไม่น้อย เรานัดลงเรือกันที่ท่าน้ำวัดบางนางเกร็ง ล่องเรือชมวิวรับลมเย็น ๆ จากเจ้าพระยาไปทางปากแม่น้ำ ผ่านโรงเรียนนายเรือ หอชมวิวเมืองปากน้ำ ตลาดปากน้ำ ป้อมผีเสื้อสมุทร ป้อมเสือซ่อนเล็บ แวะสักการะพระสมุทรเจดีย์ แล้วย้อนกลับมาชมวิวของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ล่องไปจนถึงสะพานภูมิพล ชมบ้านเรือนและวิถีชีวิตผู้คนริมน้ำ ผืนป่าจากที่ร่มรื่น เรือหลวง เรือขนทราย หากมาล่องเรือช่วงเย็น ๆ จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกที่ฝั่งปากแม่น้ำด้วย
จากนั้นขึ้นฝั่งที่ ท่าน้ำวัดบางหัวเสือ มีตำนานว่าพื้นที่นี้เคยเป็นที่เก็บเสบียงทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชระหว่างเดินทางไปจันทบุรี เดิมชื่อบางศีรษะเสือ เพราะเป็นแหล่งซ่องสุมของโจรผู้ร้าย เมื่อทางการมาปราบจึงมีการตัดหัวเสือร้ายเหล่านี้ ตัววัดสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2300 ใช้ชื่อว่าวัดบางหัวเสือ สิ่งที่โดดเด่นภายในวัดคือ อุโบสถที่ตกแต่งด้วยเซรามิกทั้งหลัง ภายในประดับงานปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ สีสันรูปทรงสวยงามสมส่วนจากฝีมือปั้นของช่างเมืองเพชรบุรี
ขึ้นจากเรือแล้วอาจจะหิว ในวัดบางหัวเสือมีตลาดน้ำ เป็นตลาดชุมชนเล็ก ๆ บรรยากาศร่มรื่นริมคลองป่าจาก ร้านค้าไม่เยอะ แต่มีของอร่อยทั้งคาว-หวานสูตรโบราณที่น่าสนใจซ่อนอยู่ เช่น ขนมจีนน้ำพริกที่ใส่ถั่วเขียวเป็นเม็ด ๆ เคี้ยวหนึบ ๆ ของร้านป้านอม ข้าวแกงร้านป้าเปี๊ยกก็อร่อยไม่เบา โดยเฉพาะปลาตะเพียนต้มเค็ม ปูนาหลน แกงชักส้ม แพนงเนื้อเป็นเมนูขายดีตลอดกาล และต้องไม่พลาดชิมขนมจาก ที่ใส่ลูกจากพอให้เคี้ยวแล้วรู้สึกหนุบหนับของป้านวย แวะมาอุดหนุนกันได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์นะจ๊ะ
ชุมชนบางด้วนนอก
มาถึงบางด้วนก็ต้องมาสักการะหลวงพ่อดำแห่งวัดบางด้วนนอก เป็นวัดที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2380 สำหรับหลวงพ่อดำมีอายุกว่า 200 ปี ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธากันมาก หากใครมาบนบานขอพรก็มักสำเร็จสมหวัง
ในบริเวณวัดยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ทอดยาวขนานไปกับคลองบางด้วนจนจรดแม่น้ำเจ้าพระยาได้ สุดทางเดินมีศาลาพักใจให้นั่งพักชิล ๆ แนะนำให้หนีบเพื่อนไปด้วย เผื่อนั่งเพลินจนเย็นย่ำจะเห็นแสงอาทิตย์ค่อย ๆ ลาลับขอบฟ้าและขอบน้ำ แถมช่วงหัวค่ำยังมีหิ่งห้อยให้ชมกัน ราวกับต้นไม้ถูกประดับไฟ และในเทศกาลลอยกระทงมีการแข่งขันพายคายัคล่องคลองบางด้วนกันอย่างสนุกสนาน ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน
โชคดีที่ในวันนี้ชุมชนบางด้วนยังมีพื้นที่ป่าจากเหลืออยู่มากกว่าตำบลอื่น ๆ เราจึงมีโอกาสได้ชมฝีมือจักสานก้านจากของยายบำรุง พูลสวัสดิ์ ซึ่งโรงไฟฟ้าพระนครใต้ คอยช่วยเหลือและสนับสนุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 สินค้าขายดีของยายบำรุงคือ ชุดขันโตก ตะกร้าหูหิ้ว แส้ปัดยุง ฯลฯ ยายบอกว่าทุกชิ้นทำด้วยใจและยินดีสอนให้ผู้ที่สนใจ เพราะอยากให้ภูมิปัญญาชาวบ้านแขนงนี้ยังคงอยูู่
จากนั้นเราไปดูการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานของบ้านชมฟาร์ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า ที่นี่มีประสบการณ์ในการทำฟาร์มเห็ดนับสิบปี พร้อมเปิดบ้านเพื่อสอนการเพาะเห็ดให้มีคุณภาพ มีสีขาวน่ากิน ไม่ชื้น และเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานถึง 7 วัน นอกจากนี้ยังพาชมแปลงผักสวนครัวผสมผสานที่ปลูกด้วยวิถีอินทรีย์ ซึ่งผลผลิตที่ได้นำมาแปรรูปเป็นห่อหมกแสนอร่อย ที่ใครได้ชิมต่างติดอกติดใจ
ยังมีศูนย์เรียนรู้อีกหลายแห่งในบางด้วน เช่น การปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ ทำขนมปั้นสิบ ขนมเปี๊ยะนมสด ที่พร้อมแบ่งปันความรู้แก่ผู้ที่สนใจ
เรียกได้ว่า มารอบโรงไฟฟ้าพระครใต้ได้ทั้งเที่ยว กิน ชอป แถมยังได้ความรู้ใหม่ ๆ เผื่อใครอยากทำผ้ามัดย้อม เพาะเห็ด หรือทำขนมเสริมรายได้ก็ดีงามนะจ๊ะคุณ นับเป็นทริปที่คุ้มค่าในหนึ่งวันจริง ๆ
เรียกได้ว่า มารอบโรงไฟฟ้าพระครใต้ได้ทั้งเที่ยว กิน ชอป แถมยังได้ความรู้ใหม่ ๆ เผื่อใครอยากทำผ้ามัดย้อม เพาะเห็ด หรือทำขนมเสริมรายได้ก็ดีงามนะจ๊ะคุณ นับเป็นทริปที่คุ้มค่าในหนึ่งวันจริง ๆ