ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2509 ความต้องการไฟฟ้าของประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามความเจริญเติบโตของบ้านเมือง ขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพียง 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพลและโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จึงต้องขยายแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความมั่นคง ในระบบไฟฟ้า รัฐบาลจึงได้อนุมัติ “โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน เข้ามาเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 และกลายเป็นโครงการสำคัญของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ในช่วงเวลานั้น
นั่นถือเป็นก้าวแรกของโรงไฟฟ้าพระนครใต้(รฟต.) หรือที่เรียกกันในสมัยแรกเริ่มว่า “โรงจักรพระนครใต้” ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 บนพื้นที่เริ่มแรกขนาด 216 ไร่ ของตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเต็มไปด้วยป่าจาก สวนมะพร้าว แนวลำคลอง (จากอดีตสู่ปัจจุบันมีพื้นที่ 371 ไร่) โดย กฟผ. ทำการปรับปรุงที่ดิน ซึ่งเดิมเป็นท้องร่องสวนแล้วจึงตัดถนนต่อไปถึงหัวงานเป็นระยะ 2.5 กิโลเมตร จากนั้นได้สร้างสะพานเขื่อนริมน้ำท่าเรือ และติดตั้งปั้นจั่นสำหรับงานก่อสร้างฐานราก ของอาคารโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1 และ 2 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ต่อมาจึงเริ่มงานก่อสร้างส่วนประกอบอื่นๆ เช่น อาคารชักน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ โรงเก็บพัสดุ อาคารสถานีไฟฟ้าแรงสูงและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า จนกระทั่งการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จ
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทันสมัยที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น นับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ได้ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าให้คนไทยมาตลอด 50 ปี