โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบแกนเพลาเดี่ยว โรงไฟฟ้าส่วนเพิ่ม ใหม่ล่าสุด ชุดที่ 5-7
ในปี 2563 มีการปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ ชุดที่ 1 และปี 2565 ปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ ชุดที่ 2 ออกจากระบบ ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) กำหนดให้ กฟผ. พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ส่วนเพิ่มมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 2,100 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักและน้ำมันดีเซล เป็นเชื้อเพลิงสำรองเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวง
ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางของประเทศ จึงจำเป็นต้องจัดสรรโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าเดิมถูกปลดออกจากระบบ จากการพิจารณาความเหมาะสมด้านสถานที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนา ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่รองรับการดำเนินการ ข้อจำกัดด้านกฎหมาย และการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ พบว่ามีความพร้อมและเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่โรงไฟฟ้าเดิม กฟผ. จึงได้ศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่มให้ครอบคลุมขนาดกำลังการผลิต ตามสัญญา 2,100 เมกะวัตต์ ดังนี้
โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่มเติม ชุดที่ 5
ขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 700 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ปี 2569
โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่มเติม ชุดที่ 6
ขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 700 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 2570
โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่มเติม ชุดที่ 7
ขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 700 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2570
โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่มจะก่อสร้างบนพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ รวมพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ประมาณ 114 ไร่ โดยการรื้อถอนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เครื่องที่ 1-5 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ออกก่อนก่อสร้าง ซึ่งจะดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ(EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ส่วนเพิ่มต่อไป
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพระนครใต้จะยังคงยึดมั่นให้พลังงานไฟฟ้าส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า
“ขอให้โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำพระนครใต้แห่งนี้จงสถิตสถาพรอยู่ชั่วกาลนาน เป็นกำลังส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รุดหน้าก้าวไปโดยไม่หยุดยั้ง เป็นพลังจรรโลงมาตรฐานการครองชีพของราษฎรทั้งมวลให้สูงส่งยิ่งขึ้นไป และเป็นสัญลักษณ์แห่ง ความรุ่งเรืองของแผ่นดินไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต”