การสร้างความสัมพันธ์
โรงไฟฟ้าพระนครใต้ นับเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกในกลุ่มโรงไฟฟ้าภาคกลางของ กฟผ. ที่ผ่านการรับรองการนำระบบบริหารมาตรฐานสากลมาใช้ทั้ง 3 ระบบ และต้องยอมรับว่าการนำระบบ มาตรฐานต่างๆมาใช้ ล้วนเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้ายังคงมีอยู่อย่างไม่จำกัดจึงเป็นหน้าที่ของ กฟผ. ที่จะต้องพยายามหาวิธีผลิตไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
เวลาเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละอองเข้าไปลงอาคารบ้านเรือนของชาวบ้าน หน่วยงานที่จะถูกร้องเรียนเป็นอันดับแรกคือโรงไฟฟ้า แต่ความพยายามในการทำงานอย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ทำความเข้าใจและการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน ก็จะทำให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจจนบางครั้งถึงกับเป็นปากเป็นเสียงให้แก่โรงไฟฟ้า เช่นเดียวกันเมื่อมีความรู้ความเข้าใจอย่างจำกัด ก็อาจทำให้เกิดความกลัวและหวาดระแวงขึ้นเป็นธรรมดา ซึ่งปัญหาที่คนส่วนใหญ่วิตกกันคือสภาวะอากาศ เป็นที่รู้กันดีว่าขั้นตอนในการผลิตไฟฟ้ามีกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ได้ออกไซด์ (SO2) ก๊าซในกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ (NO/NO2 ) และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particle Metter: PM) มากบ้าง น้อยบ้าง ตามชนิดของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ ไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป
หลังจากกรณีมีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์แพร่กระจายในช่วงฤดูหนาวที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว โรงไฟฟ้าทุกแห่งของ กฟผ. จึงยิ่งเพิ่มความถี่ถ้วนในการควบคุมมลภาวะมากขึ้น มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดและการควบคุมกระบวนการผลิต รวมถึงมาตรการจากภาครัฐที่เข้ามามีบทบาทเป็นหัวเรือใหญ่ในการควบคุมมลภาวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ดังเช่น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ พ.ศ. 2537 ให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอันเกิดจากการใช้น้ำมันเตาในบริเวณพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ด้วยการกำหนดคุณภาพน้ำมันเตาที่จำหน่าย ในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการให้ใช้น้ำมันเตาชนิดที่ 1-4 ซึ่งมีกำมะถัน (ซัลเฟอร์) ไม่เกินร้อยละ 2 และชนิดที่ 5 มีกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.5 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2537
ส่วนโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมหรือโรงคอมไบน์ แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่ก็มีปัญหาไนโตรเจนออกไซด์(NOx) หรือน็อกซ์ออกมา จึงทำการออกแบบเตาเชื้อเพลิงให้ลดน็อกซ์ลงในระดับต่ำ และนำก๊าซที่เหลือมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องกังหันไอน้ำต่อ หากเป็นช่วงที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เช่น ในเดือนเมษายน ซึ่งโรงไฟฟ้าต่างๆ ต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น จะต้องทำการฉีดละอองน้ำเข้าไปในห้องเผาไหม้เชื้อเพลิง ลดอุณหภูมิให้อยู่ระดับต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดน็อกซ์ เป็นการช่วยลดมลภาวะอีกทางหนึ่ง และหากเป็นฤดูหนาวซึ่งมีความกดอากาศสูงแผ่ลงมา ความร้อนจากเมือง รวมทั้งฝุ่นละอองควันไฟต่างๆ จะไม่สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนได้โดยเฉพาะในช่วงเช้าและเย็น โรงไฟฟ้าก็มีแผนการโหลดกำลังการผลิตลง เทคนิควิธีต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกเขียนไว้เป็น Work Instruction (WI) อย่างชัดเจนในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เพื่อป้องกันมลภาวะทางอากาศ น้ำ และดิน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO 9001:2000 ที่โรงไฟฟ้านำมาใช้นั่นเอง
เรื่องเสียงก็เป็นอีกเรื่องที่โรงไฟฟ้าหลายๆแห่งมักถูกร้องเรียน โรงไฟฟ้าพระนครใต้มีข้อดีคือมีอาณาเขตกวางขวางแต่ก็ยังอยู่ใกล้ชุมชน ทั้งชุมชนบางโปรง บางฝ้าย บางหัวเสือ และยังมีพื้นที่ซึ่งติดกับวัดและโรงเรียน เพื่อป้องกันเสียงดังที่อาจเกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่โรงไฟฟ้าให้ความสำคัญ โดยตามมาตรฐานความปลอดภัยกำหนดให้โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม มีเสียงดังรบกวน ต่อชุมชนได้ไม่เกิน 10 เดซิเบล
การสร้างกำแพงเสียงในทุกจุดที่อาจส่งผลกระทบ เช่น บริเวณพัดลมระบายความร้อน หม้อแรงดันไอน้ำ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงเป็นวิธีการเบื้องต้นที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ตระหนักถึง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ พนักงาน และความสบายใจของชุมชนด้วยแม้ว่าจะใช้ช่วงเวลาไม่นานก็ตาม
นอกจากการติดตั้งกำแพงป้องกันเสียงดังแล้วก็ยังสร้างฉนวนเป็นกำแพงกั้นเสียงแบบธรรมชาติอีกด้วย เช่น การปลูกต้นไม้รอบรั้วโรงไฟฟ้า ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ได้ประโยชน์หลายทาง ไม่เพียงแต่การปลูกต้นไม้ในโรงไฟฟ้าเท่านั้น
แต่นอกเหนือจากเสียงที่เกิดจากกระบวนการผลิตแล้ว บางครั้งเวลาโรงไฟฟ้าต้องทำการทดสอบระบบ หรือ Blow Out ซึ่งอาจทำให้เกิดเสียงดังรบกวนชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ดังนั้นทุกครั้งที่ฝ่ายเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าจะทำการทดสอบระบบจึงต้องแจ้งแผนกประชาสัมพันธ์ของโรงไฟฟ้าก่อน เพื่อประกาศให้ชุมชนได้รับทราบล่วงหน้าโดยผ่านทางเสียงตามสายของผู้นำหมู่บ้าน รวมถึงใช้รถของโรงไฟฟ้าออกไปประกาศให้ชุมชนรับรู้ก่อนล่วงหน้า 1-2 วัน
ปัจจุบันทุกโรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน” ซึ่งประกอบด้วยการทำงานของคณะบุคคลที่เป็นตัวแทนจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ส่วนราชการในพื้นที่ ชุมชน และโรงไฟฟ้า
หน้าที่หลักของคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ คือตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และมีหน้าที่ให้คำแนะนำแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้สามารถเรียกร้องให้โรงไฟฟ้าหยุดผลิตไฟฟ้าได้ในกรณีที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนกว่าโรงไฟฟ้าจะแก้ไขปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นให้คลี่คลายหรือหมดไปได้
การดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้จึงช่วยให้ตรวจสอบโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทราบถึงผลกระทบที่เกิดกับชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งทำให้โรงไฟฟ้าและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน